วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

ทันสมัย-โดนใจวัยรุ่น ห้องสมุดรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ทันสมัย-โดนใจวัยรุ่น ห้องสมุดรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

          เนื้อที่ 1,050 ตารางเมตรของชั้น 1 และ 2 อาคารวิศิษฐ์ประจวบเหมาะ และอาคารประชาธิปกรำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์  คือที่ตั้งของห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ ห้องสมุดยุคใหม่ ที่ทันสมัย และไฮเทคมากๆ
          บริการยืม-คืน หนังสือได้ทันใจในวันเดียว ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องขนหนังสือไป-มาเพื่อต่อเวลายืม แถมยังแชทผ่านออนไลน์ สอบถามความรู้จากเจ้าหน้าที่ห้องสมุด

          นอกจากนี้ ยังมีจัดกิจกรรม บุ๊ก โปรโมชั่น บุ๊ก แฟร์ มุมหนังสือใหม่ บริการห้องปฏิบัติศาสนกิจ (ละหมาด) ห้องน้ำสะอาดเวลาปฏิบัติภารกิจยังมีเสียงเพลงตามสายตามสไตล์วัยโจ๋ให้ฟังอีกด้วย ถ้าใครต้องการเช็กข่าวให้เข้าเทรนด์ไม่ตกยุค ทันกระแสโลก ก็สามารถมาดูข่าวได้ เที่ยงวันทันเหตุการณ์ หรือข่าวเด่น.ประเด็นร้อน (ฮอตนิวส์) ได้ที่ห้องสมุดอีกด้วย

          เรียกได้ว่ามีครบทั้ง 18 บริการ 14 กิจกรรม ในบรรยากาศอบอุ่นสบาย เสมือนนั่งเล่นอยู่ห้องหนังสือที่บ้าน เพราะความเป็นกันเองของบรรณารักษ์ ผสมผสานกับความทันสมัยของเทคโนโลยี ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้กลายเป็นห้องสมุดกลางใจเมือง ที่โดนใจวัยรุ่นชาวสีชมพูแบบสุดๆ แถมมีร้านกาแฟกิ๊บเก๋อยู่หน้าตึก ไว้บริการนักศึกษา และผู้ใช้บริการอีกด้วย
          กระทั่งได้รับรางวัลดีเด่นคุณภาพการให้บริการประชาชน ประเภทนวัตกรรมการให้บริการ กระบวนงานการให้บริการห้องสมุดแบบครบวงจรด้วยกลยุทธ์การตลาด ประจำปี 2551 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อ.นฤมล กิจไพศาลรัตนา หัวหน้าบรรณารักษ์ ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ เล่าว่าหัวใจหลักของห้องสมุดคือ บรรณารักษ์ ซึ่งต้องมีจิตสาธารณะ เป็นนักบริการ จึงได้นำหลัก "สมาร์ท แอนด์ สไมล์" มาเป็นตัวขับเคลื่อน บริการยืดหยุ่น รวดเร็ว ลดขั้นตอน โดดเด่นและสร้างความแตกต่าง ภายใต้ 18 บริการ และ 14 กิจกรรม ที่สำคัญยังเปิดรับฟังความคิดจากผู้ใช้บริการ เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานให้โดนใจให้มากที่สุดอีกต่างหาก
          เพราะหัวใจการบริการ ถือเป็นหัวใจหลักของบรรณารักษ์ที่ดี ต้องยึดผู้ใช้บริการ หรือลูกค้า เป็นพระเจ้า และพร้อมปรับเปลี่ยนการให้บริการ เน้นตามเทรนด์ ตามกระแส วิถีชีวิต และธรรมชาติของเด็ก เยาวชน ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ถือว่าประสบความสำเร็จ ที่ทำให้นักศึกษาหันมาใช้บริการห้องสมุด ส่งเสริมรักการอ่านได้
          "หนูนา" สุวรรณา พูลเพชร นิสิตปริญญาโทชั้นปีที่ 1 ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ใช้บริการห้องสมุดรัฐศาสตร์เป็นประจำ แม้ไม่มีเรียนก็ต้องมา เพราะที่นี่มีอินเทอร์เน็ต มีหนังสือ งานวิจัยมากมาย บรรยากาศอบอุ่นสะดวกสบาย บรรณารักษ์ทุกคนใจดี มีกิจกรรมทันสมัย เช่น ตู้หนังสือใหม่ให้บริการ รวดเร็ว ทันใจ
          เช่นเดียวกับ "วุฒิ" ศิระวุฒิ สุหวาทยานนท์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่ามาใช้บริการห้องสมุดทุกวัน เพราะติดใจบรรยากาศ และความเป็นกันเองของบรรณารักษ์ อยากให้ขยายพื้นที่ห้องสมุดกว้างขึ้น และมีอินเทอร์เน็ตบริการมากกว่านี้ โดยเฉพาะช่วงสอบมีนิสิต นศ.มาใช้บริการมาก ทำให้ไม่มีพื้นที่อ่านหนังสือ เป็นการดีมาก ที่บรรณารักษ์คอยเอาใจใส่ถึงความต้องการของผู้ใช้บริการ
          ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่าปี 2555 จะขยายพื้นที่ห้องสมุดคณะให้กว้าง และครบวงจรมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นิสิต และประชาชนอย่างครบวงจร เปิดให้บริการจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ 09.00-17.00 น. นิสิตจุฬาฯ ใช้บริการฟรีบุคคลทั่วไป เสียค่าใช้บริการ วันละ 30 บาท อยากรู้ว่าห้องสมุดรัฐศาสตร์ทันสมัยแค่ไหน ดูข้อมูล ได้ที่ http://www.polsci.chula.ac.th/library หรือสอบถามได้ที่โทร.0-2218-7333
 เรื่องโดย ชุลีพร อร่ามเนตร

ไทยเจ้าภาพประชุมสภาบรรณารักษ์ รวมห้องสมุดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาบรรณารักษ์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 16 : The 16 th  Congress of Southeast Asian Librarians (CONSAL XVI 2015) ระหว่างวันที่ 10-13 มิถุนายน 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม BITEC โดยในปี 2558 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา หอสมุดแห่งชาติและสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "ความมุ่งหวังอาเซียน : ห้องสมุดเพื่อความก้าวหน้าที่ยั่งยืน" (ASEAN Aspirations : Libraries for Sustainable Advancement) เพื่อต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศสมาชิก โดยการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นผลดีต่อความเจริญก้าวหน้าทางวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประเทศสมาชิกเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และประสบการณ์อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่บรรณารักษ์ประเทศเจ้าภาพได้พบปะผู้ร่วมวิชาชีพ จากประเทศสมาชิกทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติที่สนใจเข้าร่วมประชุม


          นายเอนก กล่าวอีกว่า หอสมุดแห่งชาติของไทยเป็นสมาชิกสภาบรรณารักษ์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Congress of Southeast Asian Librarians : CONSAL) ซึ่งก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2513 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการพัฒนาห้องสมุดของประเทศสมาชิกรวม 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม (ไทยเคยเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 3) และในการประชุมครั้งที่ 16 นี้จะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร บรรณารักษ์ นักสารสนเทศจากสมาคมห้องสมุด หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดเฉพาะ ห้องสมุดสถาบันการศึกษาต่างๆ นักวิชาการด้านสารสนเทศ และผู้เกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิกและจากนานาประเทศ

อ้างอิง : http://www.ryt9.com/s/bmnd/1960929

TK park ชวนน้องๆ หนูๆ สนุกกับกิจกรรมสุดหรรษาต้อนรับปีมะเส็ง


          กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--บริษัท 19 มีเดีย จำกัดต้อนรับปีมะเส็ง “งูเล็ก” ปีนี้ พี่ๆ บรรณารักษ์ ณ ห้องสมุดเด็ก อุทยานการเรียนรู้ TK park ซุ่มเตรียมสร้างสรรค์กิจกรรมแสนสนุกไว้ให้กับน้องๆ ได้เล่นไปพร้อมๆ กับเรียนรู้อย่างหรรษา โดยเฉพาะเดือนมกราคม 2556 เดือนแรกของปี พี่ๆ เขามีกิจกรรมอะไรไว้ให้เล่นบ้างนะ ลองแอบไปดูกันหน่อยซิ!!!
          กิจกรรมแรกเสาร์ที่ 5 และอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2556 นี้น้องๆ ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการวัด...พลาดไม่ได้รีบๆ มาร่วมกิจกรรมฝึกทักษะกันได้ตั้งแต่13.00-16.00 น. ส่วนคนไหนที่ชอบฟังนิทาน วันเสาร์ที่ 5 ช่วงเวลา 15.00 – 15.30 น. มีกิจกรรมเล่านิทานอ่านสนุก เรื่องพ่อแม่มือใหม่กับไข่ 5 ฟอง และ ความรักอันยิ่งใหญ่ของคุณจระเข้กับคุณยีราฟ นอกจากนี้มีอะไรอีกบ้าง มากางแผงตารางกิจกรรมดูกันเลยจ้า
ส. 12 –อา. 13 ม.ค. 2556 กิจกรรม“ภารกิจซ่า ท้าฝัน!!”เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ
ส. 19 –อา. 20 ม.ค. 2556 กิจกรรม ประดิษฐ์กลอง
กิจกรรม TK Talk : โด เร มี ดนตรีสร้างสุข ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน เรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมดนตรีสำหรับเด็ก กับอ.งามตา นันทขว้าง อาจารย์ประจำ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ส. 26 ม.ค. 2556 กิจกรรมเล่านิทานอ่านสนุก เรื่องงานแรกของมี้จัง และ It’s a book
ส. 26 –อา. 27 ม.ค. 2556 กิจกรรม ประดิษฐ์พวงกุญแจแสนสนุก
มาร่วมสนุกสุดหรรษาไปกับห้องสมุดเด็ก ในห้องสมุด “มีชีวิต” อุทยานการเรียนรู้ TK park ที่จะชวนให้น้องๆ สนุกไปการอ่าน การฟัง การลงมือทำ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดได้ตลอดทั้งเดือนมกราคม 2556 นี้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tkpark.or.th หรือโทร. 02-257-4300

อ้างอิง : http://www.newswit.com/gen/2013-01-04/6616622932c51063959efb3bee561fbb/

ดั๊บเบิ้ล เอและกทม. ชวนบรรณารักษ์ สร้างห้องสมุดในฝัน ส่งเสริมเด็กไทยรักการอ่าน


           กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--คิธ แอนด์ คินฯ การอ่านคือการเปิดโลกกว้าง เปิดมุมมองจากความคิดของผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ และสำนวนที่หลากหลายชวนติดตาม โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาชี้ว่าร้อยละ 80-90 ของความรู้และข้อมูลที่มนุษย์ต้องการ ค้นหาได้จากการอ่าน นอกจากนี้ การอ่านยังเป็นช่องทางในการเสริมสร้างจินตนาการและความคิด ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์อีกด้วย

          ดั๊บเบิ้ล เอ เล็งเห็นความสำคัญของการอ่านและได้มีการส่งเสริมสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จัดงานสัมมนาบรรณารักษ์ประจำปี 2556 ภายใต้หัวข้อ “ดั๊บเบิ้ล เอ บุ๊ค ทาวเวอร์ ชวนบรรณารักษ์ สร้างห้องสมุดในฝัน” เพื่อส่งเสริมให้อาจารย์และบรรณารักษ์ได้นำความรู้ไปพัฒนาห้องสมุดภายในโรงเรียนและในชุมชนให้เป็นห้องสมุดในฝันของเด็กๆ โดยมี ศาสตราจารย์คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และอาจารย์เจริญ มุศิริ ครูเกียรติยศ สาขาบรรณารักษศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรสร้างสรรค์สังคมรักการอ่าน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากครูบรรณารักษ์จากโรงเรียนต่างๆ และเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุดชุมชน กรุงเทพมหานคร มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
          การสัมมนาเริ่มด้วยการบรรยายของอาจารย์เจริญ มุศิริ ที่ชักชวนเหล่าบรรณารักษ์จัดกิจกรรมในห้องสมุดเพื่อเป็นการจูงใจเด็กๆ เข้ามาใช้ห้องสมุดมากยิ่งขึ้น โดยการนำบทเรียนมาบูรณาการเข้ากับกิจกรรมที่สนุกสนานทั้งร้อง เล่น เต้น รำ สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เด็กๆสนใจในกิจกรรมและซึมซับเนื้อหาสาระไปโดยไม่รู้ตัวและเกิดการจดจำได้ง่าย“การสร้างห้องสมุดในฝันจำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐและเอกชน โดยเริ่มจากครอบครัวที่จะต้องปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ซึ่งควรเริ่มจากการอ่านจากภาพ เพื่อสร้างจินตนาการในการคิด แล้วค่อยพัฒนาการอ่านเป็นหนังสือประเภทอื่นๆต่อไป ในส่วนของโรงเรียนก็ควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความรู้กับกิจกรรมสันทนาการเพื่อจูงใจเด็กนักเรียน เช่นการจัดประกวดทักษะต่างๆ หรือกิจกรรมบันทึกการอ่าน โดยมีการเสริมเรื่องของรางวัลเพื่อจูงใจ และส่วนสุดท้ายชุมชนต้องให้ความสำคัญกับการอ่านด้วยเช่นกัน มีกิจกรรมให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง” อาจารย์เจริญ กล่าว
ขณะที่คุณสุนิสา ปานเจริญ เจ้าพนักงานห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ กรุงเทพมหานคร (เขตลาดกระบัง) เล่าว่า “การได้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ได้ความรู้และแนวทางในการจัดบรรยากาศห้องสมุดให้ดึงดูดประชาชนเข้ามาใช้บริการ โดยปกติห้องสมุดประชาชน เขตลาดกระบัง ก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดประชาชนอยู่แล้ว แต่การได้เข้าร่วมการอบรมทำให้มีแนวคิดทางด้านการจัดกิจกรรมใหม่ๆ เปิดมุมมองใหม่ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของบรรณารักษ์อีกด้วย”ต่อด้วยช่วงบ่ายที่เป็นการบรรยายของผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ในวงการศึกษาไทยมานานอย่าง ศ.คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ที่นำประสบการณ์ในการทำงานมาเล่าสู่กันฟัง ถึงการผลักดันกิจกรรมห้องสมุดให้เป็นที่แพร่หลาย โดยท่านได้ให้แนวคิดของการจัดห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดในฝันว่า “การจัดห้องสมุดให้อยู่ในพื้นที่เข้าถึงได้ง่าย สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น ซึ่งห้องสมุดระดับโลกมักจะสร้างรูปลักษณ์การดีไซน์ที่ทันสมัย อย่างเช่น Salt Lake City Public Library ในสหรัฐอเมริกา ที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงามใหญ่โต และยังมีการสร้างบรรยากาศด้วยการเปิดเพลงคลอให้ผู้ใช้บริการเพลิดเพลิน รวมถึงการจัดหาหนังสือให้ครอบคลุมความต้องการของผู้อ่าน และที่สำคัญการสร้างห้องสมุดในประเทศไทย ภาครัฐควรส่งเสริมงบประมาณที่จะสามารถจัดหาหนังสือดีมีคุณภาพ สื่ออิเล็กโทรนิกส์ และการเพิ่มจำนวนห้องสมุดให้มีเพียงพอใช้งาน หรือเพียงแบ่งงบประมาณร้อยละ 5 ของงบประมาณแผ่นดินก็สามารถสร้างห้องสมุดที่ดีมีคุณภาพไว้ให้ประชาชนใช้บริการได้แล้ว”
          ส่วนผู้ร่วมเข้าฟังสัมมนาอย่าง คุณเอื้อมพร พรหมนรกิจ ครูบรรณารักษ์ โรงเรียนประดิษฐารามวิทยาคม กล่าวว่า จากการสัมมนาในวันนี้ก็ได้ความคิดใหม่ๆ ที่จะนำไปเป็นเทคนิคปรับใช้กระตุ้นความคิดของเด็กนักเรียนให้เกิดความสนใจ ก็จะช่วยนำไปสู่การอ่านให้มีมากขึ้น เช่น ผ่านการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ที่สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ ซึ่งจะทำให้เด็กนักเรียนเข้ามาใช้ห้องสมุดมากขึ้น
          การสัมมนา “ดั๊บเบิ้ล เอ บุ๊ค ทาวเวอร์ ชวนบรรณารักษ์ สร้างห้องสมุดในฝัน” ในครั้งนี้ น่าจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนหนึ่ง ที่ดั๊บเบิ้ล เอ และกรุงเทพมหานคร ต้องการส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา ปลูกฝังให้เกิดนิสัยรักการอ่านอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเยาวชนไทย ซึ่งเป็นอนาคตอันสำคัญของประเทศชาติ เราคงไม่อยากหยุดสถิติการอ่านของคนไทยไว้ที่ปีละ 5 เล่มเท่านั้น แต่เราหวังไว้ว่าคนไทยทุกเพศ ทุกวัย จะมีนิสัยรักการอ่านอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน

ประชาสัมพันธ์ติดต่อ: คุณวรวิทย์ บ.คิธ แอนด์ คิน ฯ
โทร. 02-663-3226 ต่อ 64


วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แวลลูฯ เตรียมจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูบรรณารักษ์ภายใต้โครงการโลกนิทานของหนู

แวลลูฯ เตรียมจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูบรรณารักษ์ภายใต้โครงการโลกนิทานของหนู


กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--เดอะแวลลูซิสเตมส์
บริษัทเดอะแวลลูซิสเตมส์ จำกัด โดยนายณรงค์ อิงค์ธเนศ ประธานบริหารและประธานโครงการโลกนิทานของหนู ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทฯ ที่ดำเนินการก่อสร้างห้องสมุดนิทานให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง จนปีนี้ได้ดำเนินโครงการเป็นปีที่ 8 แล้วนั้น มีดำริถึงปัญหาที่ทุกโรงเรียนภายใต้โครงการโลกนิทานของหนูต่างประสบ คือ การขาดแคลนบุคลากรด้านบรรณารักษศาสตร์ที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญการจัดการทรัพยากรสารสนเทศภายในห้องสมุด รวมถึงยังได้ตระหนักถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้บริหารและคณะครูทุกท่านที่ต่างเห็นพ้องต้องกันคือปรารถนาจะร่วมสนับสนุนและพัฒนาการใช้ห้องสมุดโลกนิทานของหนูให้อำนวยประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียนและชุมชนในละแวกใกล้เคียง


          จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์ห้องสมุดโลกนิทานของหนูสู่ความเป็นเลิศ” ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11-13 ตุลาคม 2557 นี้ ณ ศูนย์ฝึกอบรมการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี


          โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาศักยภาพของบรรณารักษ์ห้องสมุดโลกนิทานของหนูสู่ความเป็นเลิศ รวมถึงเพื่อสร้างมาตรฐานการจัดหมวดหมู่หนังสือของห้องสมุดโลกนิทานของหนูให้ก้าวเข้าสู่ระบบสากล ตลอดจนเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงระหว่างครูบรรณารักษ์ห้องสมุดโลกนิทานของหนู อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครูบรรณารักษ์และคณะกรรมการโครงการโลกนิทานของหนูอีกด้วย
ทั้งนี้ภายในงาน บริษัทได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านบรรณารักษศาสตร์โดยตรงและมีประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพดังกล่าวนานกว่า 30 ปี มาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่คณะครูในโครงการโลกนิทานของหนู




อ้างอิง : http://www.newswit.com/gen/2014-07-01/d30e3ef2d067be9eab0b180e3366c5f8/

วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557

Blog คืออะไร

Blog คืออะไร
      Blog มาจากศัพท์คำว่า WeBlog บางคนอ่านคำ ๆ นี้ว่า We Blog บางคนอ่านว่า Web Log แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองคำบ่งบอกถึงความหมายเดียวกัน ว่านั่นคือบล็อก (Blog)
      ความหมายของคำว่า Blog ก็คือการบันทึกบทความของตนเอง (Personal Journal) ลงบนเว็บไซต์ โดยเนื้อหาของ blog นั้นจะครอบคลุมได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวส่วนตัว หรือเป็นบทความเฉพาะด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องการเมือง เรื่องกล้องถ่ายรูป เรื่องกีฬา เรื่องธุรกิจ เป็นต้น โดยจุดเด่นที่ทำให้บล็อกเป็นที่นิยมก็คือ ผู้เขียนบล็อก จะมีการแสดงความคิดเห็นของตนเองใส่ลงไปในบทความนั้น ๆ โดยบล็อกบางแห่ง จะมีอิทธิพลในการโน้มน้าวจิตใจผู้อ่านสูงมาก แต่ในขณะเดียวกัน บางบล็อกก็จะเขียนขึ้นมาเพื่อให้อ่านกันในกลุ่มเฉพาะ เช่นกลุ่มเพื่อน ๆ หรือครอบครัวตนเอง
      มีหลายครั้งที่เกิดความเข้าใจกันผิดว่า Blog เป็นได้แค่ไดอารี่ออนไลน์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไดอารี่ออนไลน์เปรียบเสมือน เนื้อหาประเภทหนึ่งของบล็อกเท่านั้น เพราะบล็อกมีเนื้อหาที่หลากหลายประเภท ตั้งแต่การบันทึกเรื่องส่วนตัวอย่างเช่นไดอารี่ หรือการบันทึกบทความที่ผู้เขียนบล็อกสนใจในด้านอื่นด้วย ที่เห็นชัดเจนคือ เนื้อหาบล็อกประเภท วิจารณ์การเมือง หรือการรีวิวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ตัวเองเคยใช้ หรือซื้อมานั่นเอง อีกทั้งยังสามารถแตกแขนงไปในเนื้อหาในประเภทต่าง ๆ อีกมากมาย ตามแต่ที่เจ้าของบล็อกจะเป็นคนที่ถนัดในด้านไหน ก็มักจะเขียนบทความเรื่องที่ตนเองถนัด หรือสนใจเป็นต้น
     และจุดเด่นที่สุดของ Blog ก็คือ มันสามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง ที่สามารถสื่อถึงความเป็นกันเองระหว่างผู้เขียนบล็อก และผู้อ่านบล็อกที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนของบล็อกนั้น ๆ ผ่านทางระบบ comment ของบล็อกนั่นเอง
      ในอดีตแรกเริ่ม คนที่เขียน Blog นั้นยังทำกันในระบบ Manual คือเขียนเว็บเองทีละหน้า แต่ในปัจจุบันนี้ มีเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์ให้เราใช้ในการเขียน Blog ได้มากมาย เช่น WordPress, Movable Type เป็นต้น
      ผู้คนหลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก หันมาเขียน Blog กันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่นักเรียน อาจารย์ นักเขียน ตลอดจนถึงระดับบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้น NasDaq
    

      เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา Blog เริ่มต้นมาจากการเขียนเป็นงานอดิเรกของกลุ่มสื่ออิสระต่าง ๆ หลาย ๆ แห่งกลายเป็นแหล่งข่าวสำคัญให้กับหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวชั้นนำ จวบจนกระทั่งปี 2004 คนเขียน Blog ก็ได้รับการยอมรับจากสื่อและสำนักข่าวต่าง ๆ ถึงความรวดเร็วในการให้ข้อมูลตั้งแต่เรื่องการเมืองไปจนกระทั่งเรื่องราวของการประชุมระดับชาติ
      และจากเหตุการณ์เหล่านี้ นับได้ว่า Blog เป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ไม่ต่างจาก วีดีโอ , สิ่งพิมพ์ , โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งวิทยุ เราสามารถเรียกได้ว่า Blog ได้เข้ามาเป็นสื่อชนิดใหม่ที่สำคัญอย่างแท้จริง

      สรุปให้ง่าย ๆ สั้น ๆ ก็คือ Blog คือเว็บไซต์ที่มีรูปแบบเนื้อหาเป็นเหมือนบันทึกส่วนตัวออนไลน์ มีส่วนของการ comments และก็จะมี link ไปยังเว็บอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

อ้างอิง angsila.informatics.buu.ac.th/~athitha/310101/รายงาน1/blog/Blog.doc